พายุดีเปรสชัน โคะงุมะ ถล่มหลายจังหวัดทางภาคเหนือ
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการออกประกาศเรื่อง “พายุดีเปรสชันโคะงุมะ” ที่ได้ระบุเอาไว้ว่า พายุโซนร้อนโคะงุมะ บริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประเทศเวียดนาม กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลให้มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากทางด้านตะวันออกของเมืองหลวงพระบางประเทศลาว ประมาณ 200 กิโลเมตร และกำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โดยลักษณะตามที่ได้กล่าวมาจึงส่งผลทำให้ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณตอนเหนือและประเทศลาวตอนบน ส่งผลให้ในประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือร้อยละ 80 ของพื้นที่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา, น่าน, แพร่, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, หนองบัวลำภู, อุดรธานี, สกลนคร, นครพนม, กาฬสินธุ์, มุกดาหาร, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, อำนาจเจริญ, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี กรมอุตุฯ จึงขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวังผลกระทบครั้งนี้อย่างใกล้ชิด

พายุดีเปรสชัน โคะงุมะ คืออะไร
พายุโซนร้อนโคงุมะ (Koguma=หมีน้อย) ถือเป็นชื่อของพายุหมุนเขตร้อนในรายชื่อชุดที่ 4 ลำดับที่ 5 ของมหาสมุทรแปซิฟิดตะวันตกฝั่งเหนือ ตั้งโดยประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพายุนี้ถือเป็นพายุลูกที่ 4 ของปีพ.ศ.2564 ที่ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ เคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย โดยมีการคาดการณ์ว่า จะลดกำลังแรงลงเป็นพายุดีเปรสชั่น ก่อนจะขึ้นฝั่งที่เมืองไทบิณห์ ทางใต้ของนครฮานอย เวียดนาม
6 อำเภอเชียงรายอ่วมหนัก หลังพายุโคะงุมะถล่ม
ซึ่งเชียงรายก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้ไปแบบเต็ม ๆ เพราะเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 (เวลา 11.00 น.) ได้มีการรายงานว่า เชียงรายมีฝนตกเป็นเวลานาน และมีปริมาณน้ำฝนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้น้ำป่าไหลหลากจากดอยสูงเข้าท่วมผิวทางจราจรตรงทางหลวงหมายเลข 1155 ตอน ทรายกาด – บ้านลุง กม.49+450 – กม. 49+800 บ้านปางหัด ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ทั้ง 2 ช่อง ส่งผลให้ไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้

นอกจากนี้หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย นายอารุณ ปินตา นอกจากพื้นที่ดังกล่าวแล้วยังมีพื้นที่เสียหายเพิ่มเติมอีก 6 อำเภอ 12 ตำบล 17 หมู่บ้าน บ้านเรือนราษฎร โรงเรียน เสาไฟฟ้า พื้นที่ทางการเกษตร ตลอดจนเส้นทางการคมนาคมที่ได้รับผลกระทบ โดยสามารถแบ่งความเสียหายออกได้ ดังนี้
- อำเภอเชียงแสน : บริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลเวียง และหมู่ที่ 11 ตำบลบ้านแซว ได้รับผลกระทบน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและเส้นทาจราจร
- อำเภอเวียงแก่น : บริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลหล่ายงาว ได้รับผลกระทบน้ำท่วมโรงเรียนอนุบาลเวียงแก่น, หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 14 ตำบลปอ ได้รับผลกระทบน้ำท่วมโรงเรียนบ้านปางหัด ดินทรุด เสาไฟฟ้าแรงสูงล้ม 2 ต้น และ ตำบลท่าข้าม ได้รับผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่เกษตร
- อำเภอเชียงของ : บริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลห้วยซ้อ ได้รับผลกระทบน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร เพิ่มเติมตำบลศรีดอนชัยและตำบลบุญเรือง ความเสียหายอยู่ระหว่างสำรวจ
- อำเภอเวียงเชียงรุ้ง : บริเวณหมู่ที่ 3, 4 และ 16 ตำบลป่าซาง และหมู่ที่ 1, 3, 13 และ 15 ตำบลทุ่งก่อ น้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่การเกษตร ความเสียหายอยู่ระหว่างสำรวจ
- อำเภอขุนตาล : บริเวณหมู่ที่ 7 และ 21 ตำบลยางฮอม น้ำท่วมเส้นทางจราจร ความเสียหายอยู่ระหว่างสำรวจ
- อำเภอพญาเม็งราย : บริเวณหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 17 ตำบลแม่เปา ได้รับผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่เกษตร ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

ซึ่งในขณะนี้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำลังอยู่ในขั้นตอนของการสำรวจและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น พร้อมสั่งการให้ทุกอำเภอเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง และในขณะนี้ยังไม่ได้รับการรายงานการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากพายุในครั้งนี้แต่อย่างใด
ในตอนนี้มีสถานการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องของภัยธรรมชาติ ตลอดจนโรคร้ายต่าง ๆ ดังนั้นทุกคนจำเป็นจะต้องระมัดระวังตัวเอง พกร่ม พกหน้ากากอนามัย ตลอดจนของจำเป็นติดตัวเผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉินนะคะ